Last updated: 19 พ.ย. 2564 | 30059 จำนวนผู้เข้าชม |
รู้ไว้ไม่เสียหาย “กฎหมายเลื่อยโซ่ยนต์ สำคัญอย่างไร?”
หลายๆท่านที่ใช้เลื่อยโซ่ยนต์อยู่เป็นประจำ เคยสังเกตหรือไม่ว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่ท่านกำลังใช้อยู่นั้น ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือเปล่า? วันนี้เราจะมาสรุปสาระสำคัญของ “กฎกระทรวงกําหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์ และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2555” ให้ทุกท่านเข้าใจง่ายๆ และใช้เลื่อยโซ่ยนต์อย่างถูกกฎหมายกันค่ะ
“เลื่อยโซ่ยนต์” ที่สามารถมีไว้ครอบครองได้อย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องมีใบขออนุญาต ต้องประกอบไปด้วย
1) ตัวเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ ที่มีกำลังแรงไม่เกิน 1 แรงม้า (0.746 กิโลวัตต์) และ
2) แผ่นบังคับโซ่ (บาร์) ไม่ถึง 12 นิ้ว
เนื่องจาก เลื่อยโซ่ยนต์ และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ ที่มีกําลังเครื่องตั้งแต่ 1 แรงม้าและมีขนาดบาร์ตั้งแต่ 12 นิ้วขึ้นไป เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้ในการตัดไม้ทําลายป่าได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงได้กําหนดให้เลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ที่ไม่ได้มีใบขออนุญาต ผู้ผลิต นำเข้า หรือครอบครอง มีความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 17 จำคุกไม่ เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและริบเลื่อยโซ่ยนต์
ทำไมต้องมีกฎหมายควบคุมการใช้เลื่อยโซ่ยนต์?
เพราะปัจจุบันมีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะป้องกันและปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า จึงต้องมีกฎหมายควบคุมเลื่อยโซ่ยนต์ตามยโยบายของรัฐบาล
ข้อสังเกต
กรณีใช้เลื่อยไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่ดัดแปลงจากหินเจียร หรือหากดัดแปลงเครื่องมืออื่นๆให้สามารถตัดไม้ได้ ก็ให้อยู่ภายใต้บังคับของ กฎกระทรวงกําหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์ และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2555 เช่นกัน
ดังนั้น เลื่อยโซ่ยนต์ที่มีขายกันอยู่ทั่วไปในท้องตลาด จึงเป็นเลื่อยโซ่ขนาดเล็กที่มีกำลังเครื่องไม่เกิน 1 แรงม้า (0.746 กิโลวัตต์) และมีขนาดบาร์ไม่ถึง 12 นิ้ว ซึ่งถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ เหมาะแก่การตัดไม้ ตกแต่งกิ่งหรือทรงพุ่มไม้ทั่วไป แต่ไม่เหมาะกับการดัดแปลงเครื่องเพื่อนำไปใช้ตัดไม้ใหญ่